ช่วงนี้เป็นช่วงหน้าฝน เราอาจพบเห็นเจ้ากิ้งกือได้ตามพื้นที่ทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นบ้าน สวนสาธารณะ หรือแม้แต่ตามถนน ซึ่งก็นับว่านี่อาจเป็นเรื่องใหม่ที่ทำให้เราร้องอ๋อว่า กิ้งกือก็มีพิษ เหมือนกัน โดยเรื่องนี้ นายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์และโฆษกกรมการแพทย์ ได้ออกมาให้คำแนะนำว่ากิ้งกือไม่ใช่สัตว์ที่อันตราย ถึงแม้จะไม่กัด แต่ก็มีพิษเมื่อสัมผัสถูกตัว โดยจะปล่อยออกมาจากข้างลำตัว มีสีขาวใส ประกอบด้วยสารกลุ่มไซยาไนด์ (Hydrogen cyanide) ฟีนอล (Phenol) กลุ่มเบนโซควินิน และไฮโดรควิโนน (Benzoquinones/hydroquinones) มีฤทธิ์ทำให้ผิวหนังไหม้ แผลไหม้ มีอาการปวด 2-3 วัน รวมทั้งการระคายเคืองร่วมด้วย มีฤทธิ์ฆ่าสัตว์เล็ก อาทิ แมลง มด เป็นต้น
นอกจากนี้ แพทย์หญิงมิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ ก็ได้พูดถึงเรื่องนี้เพิ่มเติมว่า กิ้งกือบางสายพันธุ์เท่านั้นที่จะมีต่อมพิษอยู่ตลอดทั้งสองข้างของลำตัวและสามารถฉีดพิษพุ่งออกไปได้ไกล เมื่อคนไปสัมผัสเข้ากับพิษของกิ้งกือก็จะทำให้เกิดการอักเสบ เป็นผื่นแดง หรืออาจทำให้ตาระคายเคืองได้หากถูกพิษกิ้งกือเข้าตา
วิธีแก้เมื่อถูกพิษ ให้ล้างด้วยน้ำสะอาดและน้ำสบู่ ทายาแก้อักเสบ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วอาการนี้จะหายภายใน 1 สัปดาห์ แต่ถ้าเกิดพิษเข้าตาก็อาจทำให้ตาอักเสบ ควรล้างตาด้วยน้ำสะอาดและรีบไปปรึกษาจักษุแพทย์โดยทันที จะได้ป้องกันไม่การอักเสบของดวงตามลุกลามไปมากขึ้น